Friday, November 5, 2010

Battle Of The Bulge [รถถังประจัญบาน]




ชื่อเรื่อง ภาษาอังกฤษ : Battle Of The Bulge
ชื่อไทย : รถถังประจัญบาน
ความ ยาว/Length :  169 นาที/minute



หลังจาก การยกพลขึ้นบก ที่ ชายหาดนอร์มังดี ในวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1944 (พ.ศ.2487) ดูเหมือนฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้รับชัยชนะต่อฝ่ายเยอรมันเกือบตลอด (ยกเว้นยุทธการ Market Garden เพื่อยึดสะพานอาร์เฮมในฮอลแลนด์หรือที่สร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อว่า A Bridge too far ซึ่งจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป) ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มตายใจว่าตนเองกำลังจะชนะสงครามโดยง่ายดาย และเหล่าทหารหาญกำลังจะได้กลับบ้าน แท้จริงแล้ว กองทัพเยอรมันกำลังเตรียมการรุกโต้กลับครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย โดยยอมลงทุนถึงขนาดถอนกำลังด้านรัสเซียมาหลายกองพลเพื่อการนี้ โดยเลือกโจมตีที่แนวป่าอาร์เดนส์ รอยต่อระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับลักเซมเบอร์กและเบลเยี่ยม ในทำนองเดียวกับที่เคยใช้ในการบุกฝรั่งเศสในตอนต้นสงคราม ทางเยอรมันเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า Wacht am Rhein หรือการเฝ้าระวังแม่น้ำไรน์ เพื่อเป็นการลวงไม่ให้ทราบล่วงหน้าว่าเป็นการบุก ต่อมา ประวัติศาสตร์เรียกการรบครั้งนี้ว่า The Battle of the Bulge (16 December 1944 – 25 January 1945)

สำหรับภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์ครั้งนี้ในชื่อ The Battle of the Bulge ในปีค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ไม่ได้เน้นที่ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์มากนัก แต่จับจุดเพียงแค่การรบกันระหว่างกองทัพรถถังสองฝ่าย คือ ฝ่ายเยอรมัน ซึ่งเป็นฝ่ายบุกและมีรถถังที่มีประสิทธิภาพดีกว่า แต่มีความเสียเปรียบทางด้านการสนับสนุนทางอากาศ และการขาดแคลนน้ำมัน และฝ่ายอเมริกันที่เป็นฝ่ายรับ จุดขายของหนังเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการที่นำรถถังจำนวนมากมาเข้าฉากได้ เป็นจำนวนมากมาย แม้จะมีข้อด้อยอยู่บ้างตรงที่ไม่สามารถหารถถังที่ใช้จริงในสมัยนั้น หรือแม้แต่จะตบแต่งให้ดูเหมือน โดยต้องมา "ติ๊งต่าง" ว่า รถถัง M47 Patton เป็นรถถัง Tiger ของฝ่ายเยอรมัน และรถถัง M24 Chaffee เป็นรถถัง Sheman ของอเมริกัน ก็คงต้องเห็นใจฮอลลีวู้ดในยุคนั้นว่าทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว

แม้หนังเรื่องนี้จะอ่อนเรื่องประวัติศาสตร์ที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ดังที่กล่าว แต่ "จุดแข็ง" ของหนังเรื่องนี้นอกเหนือจาก "จุดขาย" ในการนำกองทัพรถถังมายิงกันเล่นอย่างมโหฬารแล้ว คือ การชี้ประเด็นเรื่องข่าวกรอง หรือ ข้อมูลสารสนเทศ ในการรบ ซึ่งเรื่องบางอย่างดูเหมือนไม่สำคัญ แต่หากตึความให้ดีๆ จะเห็นข้อมูลที่อยู่เบื้องหลัง