Wednesday, November 10, 2010

Tora! Tora! Tora! [โทรา โทรา โทร่า]




ชื่อเรื่อง ภาษาอังกฤษ : Tora! Tora! Tora!
ชื่อไทย : โทรา โทรา โทร่า
ความ ยาว/Length :  145 นาที/minute

Admin T@LK! : หลังจากดูเรื่องนี้แล้วผมว่าหลายๆคนที่เคยดูหนังเรื่อง Pearl Habour มาก่อนน่าจะทำให้เข้าใจเหตุผลที่ อ่าว Pearl Habour ถูกถล่มได้มากยิ่งขึ้น เพราะเนื้อหาจะเจาะลึกไปมากกว่าหนังเรื่อง Pearl Habour ที่ทำมา เล่าถึงความเป็นไปก่อนสงครามจะเริ่ม หนังเรื่องนี้ผมแนะนำว่า ถ้าท่านเคยดูเรื่อง Pearl Habour มาแล้วควรจะหาเรื่องนี้มาเสริมครับ แล้วจะเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดียิ่งขึ้น




ภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ของปี 1970 (พ.ศ.2513) เรื่อง Tora!Tora!Tora! ซึ่งกล่าวถึงการโจมตีฐานทัพอเมริกันที่ Pearl Habor ในหมู่เกาะฮาวาย โดยฝูงบินจากกองทัพเรือของญี่ปุ่น ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ.2484) นับเป็นครั้งแรกที่แผ่นดินอเมริกาถูกข้าศึกโจมตี และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วม สงครามโลกครั้งที่สอง จนพลิกสถานการณ์ให้สัมพันธมิตรมีชัยได้ในที่สุด

โดยเนื้อเรื่องแล้ว ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก เริ่มเรื่องเมื่อนายพล ยามาโมโต เข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพเรือ แล้วเสนอแผนการบุก Pearl Habour ทั้งที่ลึกๆ ก็ไม่ต้องการทำสงครามกับสหรัฐฯ โดยระหว่างการเคลื่อนทัพเรือไปโจมตีนั้น ก็คอยฟังข่าวทางรัฐบาลญี่ปุ่นไปด้วยว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับสงครามได้หรือไม่ จนในที่สุดก็ได้ดำเนินการตามแผนถล่มฐานทัพเรือข้าศึกจนได้ชัยชนะในขั้นต้น

ในทัศนะผมนั้น จะถือว่าการรบครั้งนี้เป็นวีรกรรมของฝ่ายญี่ปุ่นมันก็ไม่เชิง ไม่ใช่เพราะว่าผมนิยมชมชอบสัมพันมิตร แต่จากเหตุการณ์ในภาพยนตร์แล้ว ควรถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมของทั้งสองฝ่าย ดังนี้

ทางฝ่ายอเมริกันนั้นคงเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเป็นฝ่ายถูกโจมตีจนได้รับความสูญเสียอย่างมหาศาล ที่น่าเสียดายคืออันที่จริงฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้มีการคาดการณ์มาก่อนแล้วว่าญี่ป่นอาจโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ได้ ไม่ว่าจะโดยใช้เทคโนโลยีดักฟังข่าวสารที่ส่งจากกรุงโตเกียวมายังสถานทูต ญี่ปุ่นในวอชิงตัน การติดตั้งเรดาห์ ประกอบกับการลาดตระเวณทั้งทางบกและทางเรือ ฯลฯ เมื่อใกล้จะเกิดเหตุ กลไกเหล่านี้ต่างทำงานได้ดี ไม่ว่าการดักฟังที่ทราบว่าทางการญี่ปุ่นกำลังจะให้ทูตเตรียมยื่นประกาศ สงคราม เรดาห์ที่จับความเคลื่อนไหวของฝูงบินญี่ปุ่นได้ก่อนโจมตีประมาณ 1 ชั่วโมง และเรือพิฆาตที่ลาดตระเวณสามารถจมเรือดำน้ำขนาดเล็กของญี่ป่นได้ แต่ด้วยความประมาท ขาดความรอบคอบของนายทหารบางนาย ส่งข่าวอะไรไปก็ไปตีความว่าเป็นฝูงบินพวกเดียวกันบ้าง ข่าวยังไม่ได้รับการยืนยันบ้าง จนในที่สุดการโจมตีก็เกิดขึ้น "นี่ไงล่ะ การยืนยันของคุณ!"

สำหรับทางฝ่ายญี่ปุ่นนั้น ทาง ยามาโมโต เอง ไม่ได้ปรารถนาที่จะทำสงครามกับอเมริกา แต่เมื่อถูกการเมืองกดดันก็ได้เสนอแผนการโจมตีครั้งนี้ โดยหวังว่าจะสามารถทำลายกำลังรบทางเรือส่วนใหญ่ของอเมริกันลงจนต้องยอมเจรจา สันติภาพ ได้มีการนัดแนะกันกับสถานทูตญี่ป่นในวอชิงตันว่า ให้ทูตยื่นเรื่องประกาศสงครามกับอเมริกาในเวลาเดียวกับที่จะโจมตี คือ 13.00 น. ของวอชิงตัน ตรงกับ 8.00 น. ที่ Pearl Habour แต่ความล่าช้าในการถอดรหัสทำให้ทูตไปยื่นเรื่องช้ากว่ากำหนด และในระหว่างการโจมตีก็ไม่สามารถพบและทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินอันเป็น หัวใจสำคัญของการรบทางทะเลในยุคนั้นได้ การรบครั้งนั้นแทนที่จะเป็นเกียรติยศจึงกลับกลายเป็นดั่งคำพูดของ ยามาโมโต ในตอนท้ายว่าเป็นเหมือนการปลุกยักษ์ขึ้นมาอาละวาด (I fear all we have done is to awaken a sleeping giant and fill him with a terrible resolve.) หรือเทียบกับสำนวนไทยได้ว่า "ตีงูให้หลังหัก" นั่นเอง

ในยุคนั้นดูเหมือนมีไม่กี่คนที่จะเข้าใจการรบที่เพิร์ลฮาเบอร์อย่างที่ ยามาโมโต เข้าใจ ในประวัติศาสตร์ปรากฏว่า ฮิตเลอร์ เมื่อได้ทราบข่าวว่าเป็นชัยชนะของญี่ปุ่น ก็พลอยบ้าจี้ประกาศสงครามกับอเมริกาไปด้วย ผลสุดท้ายทั้งญี่ปุ่นและเยอรมันก็ต้องแพ้สงครามกันไปหมด